การเชื่อมเหล็ก เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตหลายภาคอุตสาหกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้าง ยานยนต์ หรือเครื่องจักรกล ซึ่งการเลือกวิธีเชื่อมที่เหมาะสมไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังส่งผลต่อความแข็งแรงของชิ้นงานและความปลอดภัย บทความนี้เราจะพาไปรู้จักเทคนิคการเชื่อมเหล็กแต่ละชนิด เพื่อช่วยให้เข้าใจและเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสม
เชื่อมเหล็กคืออะไร?
เชื่อมเหล็ก (Welding) คือ กระบวนการเชื่อมต่อชิ้นงานของโลหะ โดยเฉพาะเหล็กตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป ให้กลายเป็นชิ้นเดียวกัน โดยใช้ความร้อนสูงที่ทำให้ผิวโลหะหลอมละลาย และหลอมรวมกัน เมื่อเย็นตัวลงจะได้แนวเชื่อมที่แข็งแรงมั่นคง

เทคนิคการเชื่อมเหล็กมีกี่แบบ?
1. การเชื่อมไฟฟ้า (Arc Welding)
การเชื่อมไฟฟ้า คือ การเชื่อมเหล็กให้ติดกัน ด้วยความร้อนจากประกายไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า “อาร์คไฟฟ้า” โดยปลายลวดเชื่อมจะจ่ายกระแสไฟไปยังชิ้นงาน ทำให้เกิดความร้อนสูงจนหลอมละลายและเชื่อมติดกันได้ การเชื่อมมีหลายรูปแบบได้แก่

- การเชื่อมแบบธูป (SMAW – Shielded Metal Arc Welding) คือ เชื่อมเหล็กด้วยลวดเชื่อมเคลือบฟลักซ์ เมื่อลวดละลาย ฟลักซ์จะเกิดควันและตะกรัน ช่วยปกป้องแนวเชื่อมจากอากาศภายนอก เหมาะกับงานทั่วไป เช่น งานโครงสร้างเหล็ก ก่อสร้าง
- การเชื่อม MIG (GMAW – Gas Metal Arc Welding / MIG Welding) คือ การเชื่อมด้วยลวดเชื่อมแบบต่อเนื่อง โดยใช้แก๊สเฉื่อย เช่น อาร์กอน หรือคาร์บอนไดออกไซต์ พ่นออกมาพร้อมกันขณะเชื่อม เพื่อปกป้องแนวเชื่อมจากอากาศภายนอก เหมาะกับงานอุตสาหกรรม เครื่องจักร งานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์
- การเชื่อม TIG (GTAW – Gas Tungsten Arc Welding / TIG Welding) คือ การเชื่อมโลหะด้วย ลวดทังสเตนที่ไม่ละลายในการเชื่อม โดยใช้ความร้อนจากประกายไฟฟ้า ระหว่างลวดกับชิ้นงาน พร้อมกับปล่อยแก๊สเฉื่อย เช่น อาร์กอน เพื่อปกป้องแนวเชื่อมจากอากาศภายนอก เหมาะกับงานเชื่อมสแตนเลส อะลูมิเนียม หรือชิ้นส่วนที่บางมาก ๆ
- การเชื่อมฟลักซ์คอร์ (FCAW – Flux Cored Arc Welding) คือ การเชื่อมที่คล้ายกับการเชื่อม MIG แต่ต่างกันตรงที่ลวดเชื่อมที่ใช้ จะมีผงฟลักซ์บรรจุอยู่ภายในลวด ทำให้ไม่ต้องใช้แก๊สจากถังมาปกป้องแนวเชื่อม เพราะผงฟลักซ์จะสร้างแก๊สปกป้องเองขณะเชื่อม เหมาะกับการเชื่อมโครงสร้างเหล็กหนา หรือพื้นที่กลางแจ้ง
2. การเชื่อมแก๊ส (Gas Welding)
การเชื่อมแก๊ส คือ เชื่อมเหล็กแบบใช้เปลวไฟจากการเผาไหม้ของก๊าซเชื้อเพลิงร่วมกับออกซิเจน เช่น อะเซทิลีน หรือโพรเพน เพื่อให้ความร้อนสูงพอที่จะหลอมโลหะให้เชื่อมติดกันได้ เหมาะกับงาน ซ่อมแซมโลหะบาง งานเครื่องประดับหรืองานศิลป์
3. การเชื่อมต้านทานไฟฟ้า (Resistance Welding)
การเชื่อมต้านทานไฟฟ้า คือการเชื่อมโดยใช้กระแสไฟฟ้าความเข้มสูงผ่านชิ้นงานของโลหะสองชิ้น ทำให้เกิดความร้อนจากแรงต้านทานไฟฟ้า และใช้แรงกดให้ชิ้นงานเชื่อมติดกัน เหมาะสำหรับงานผลิตจำนวนมาก เช่น ตัวถังรถยนต์

การเลือกวิธีเชื่อมเหล็กให้เหมาะกับงาน
เลือกจากความหนาของเหล็ก
- เชื่อมเหล็กบาง (ต่ำกว่า 3 มิลลิเมตร) เหล็กที่มีความบางต้องระมัดระวังเรื่องความร้อน อาจทำให้เหล็กทะลุหรือเสียรูป ใช้การเชื่อม TIG หรือ การเชื่อม MIG เพื่อควบคุมความร้อนได้แม่นยำ และให้รอยเชื่อมเรียบ สวยงาม ตัวอย่างงาน : ท่อสแตนเลส ตัวถังรถยนต์ และงานตกแต่งภายใน
- เชื่อมเหล็กหนา (มากกว่า 3 มิลลิเมตร) เหล็กหนาต้องการความร้อนสูง ให้แนวเชื่อมถึงชั้นเนื้อวัสดุ ใช้การเชื่อมแบบธูป หรือ การเชื่อมฟลักซ์คอร์ เพื่อให้ได้แนวเชื่อมลึก และแข็งแรง ตัวอย่างงาน : โครงสร้างเหล็ก เครื่องจักร และฐานเสา
เลือกจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- งานกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการเชื่อมที่ต้องใช้แก๊ส เช่น การเชื่อม MIG หรือ การเชื่อม TIG เพราะลมจะพัดแก๊สปกคลุมออกไป ทำให้แนวเชื่อมพรุนหรือหลุด แนะนำให้การเชื่อมแบบธูป หรือ การเชื่อมฟลักซ์คอร์ โดยไม่ต้องพึ่งพาแก๊สจากถัง ตัวอย่างงาน : งานซ่อมรั้วเหล็ก งานติดตั้งโครงหลังคาเหล็ก และงานประกอบภาคสนาม
- งานในร่ม ใช้ได้ทุกวิธี รวมถึงการเชื่อม MIG และ การเชื่อม TIG เพราะสภาพแวดล้อมควบคุมได้ดี ทำให้แนวเชื่อมเรียบ สะอาด และแม่นยำ ตัวอย่างงาน : งานประกอบเฟรมเหล็กเฟอร์นิเจอร์ งานเชื่อมตู้สแตนเลส และงานเชื่อมชิ้นส่วนเครื่องจักร
เลือกจากเครื่องมือและงบประมาณ
- เครื่องมือพื้นฐาน งบประมาณจำกัด ใช้การเชื่อมแบบธูป หรือการเชื่อมแก๊ส เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่า เพราะเครื่องเชื่อมมีราคาย่อมเยา เคลื่อนย้ายง่าย และสามารถใช้งานได้หลากหลายแม้ในพื้นที่แคบ ตัวอย่างงาน : งานซ่อมรั้วเหล็กในบ้าน งานเชื่อมโครงเตียงเหล็ก และงานประกอบชั้นเหล็ก DIY
- เครื่องมือพร้อม ต้องการความแม่นยำ ใช้การเชื่อม TIG หรือ การเชื่อม MIG ต้องใช้เครื่องที่มีความเฉพาะ ถังแก๊ส และชุดป้อนลวด ให้แนวเชื่อมเรียบ สม่ำเสมอ และแม่นยำ ตัวอย่างงาน : งานผลิตเฟรมจักรยาน งานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ในโรงงานผลิต และงานตกแต่งที่ต้องโชว์แนวเชื่อม
เลือกจากลักษณะของงาน
- งานที่เน้นความเรียบร้อยของรอยเชื่อม ใช้การเชื่อม TIG หรือ การเชื่อม MIG เพื่อให้รอยเชื่อมเรียบ สะอาด ไม่ต้องแต่งเพิ่มเติมมากนัก ตัวอย่างงาน : งานตกแต่งโลหะ งานโชว์แนวเชื่อม และงานประกอบเฟอร์นิเจอร์
- งานที่เน้นความแข็งแรงทนทาน ใช้การเชื่อมแบบธูป หรือ การเชื่อมฟลักซ์คอร์ เพื่อให้แนวเชื่อมลึก ยึดติดแน่น รองรับแรงได้สูง หรือใช้งานหนักอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างงาน : โครงสร้างเหล็ก ฐานเครื่องจักร และเสาเหล็ก
งานเชื่อมเหล็กที่มีคุณภาพ ต้องเริ่มจากการเลือกเทคนิคการเชื่อมเหล็กให้เหมาะกับชิ้นงาน โดยพิจารณาจากความหนา วัสดุ สภาพแวดล้อม และเครื่องมือที่มี พร้อมทั้งเข้าใจข้อดีหรือข้อจำกัดของแต่ละวิธี เพื่อให้ได้งานเชื่อมที่แข็งแรง สวยงาม และตอบโจทย์งานเชื่อมในทุกรูปแบบ หากคุณกำลังมองหาผู้ให้บริการงานเชื่อมเหล็กที่ทั้งแม่นยำ แข็งแรง และเชื่อถือได้ Prosupply พร้อมให้บริการที่มีคุณภาพ ครบจบในที่เดียว
🖥️ Line Oa: @prosupply
☎️ Tel: 099-3232989, 086-3328847, 063-3636595
✉️ Email: [email protected]
📘 Facebook: Laser Cut Pro Supply